วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

4.คำถามของการวิจัย (Research Questions)

          สุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์  วิรัชชัย (2550, หน้า 149-150) ได้อธิบายความหมายไว้ว่า คำถามวิจัย(Research Questions) หมายถึง ข้อความที่เป็นประโยคคำถาม ซึ่งแสดงให้เห็นสิ่งที่ผู้วิจัยต้องการค้นหาคำตอบ คำถามวิจัยและประเด็นวิจัย(Research Issues) มีความคล้ายคลึงกัน เช่น
     ผู้สนใจศึกษาประเด็นวิจัยเกี่ยวกับ “รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ผู้อ่านอาจคาดเดาว่าสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจ คือ การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือการวิเคราะห์รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่หากปรับเป็นคำถามวิจัย จะทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นที่ศึกษามากขึ้น เช่น
    “รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญควรมีลักษณะเช่นใด  ประกอบด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง ผลการใช้รูปแบบดังกล่าวส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร”
          
          อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ (2553, หน้า 7) กล่าวว่า การตั้งคำถามเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะคำถามวิจัยที่ผู้วิจัยตั้งขึ้นบ่งบอกให้ทราบถึงประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการทราบหรือทำความเข้าใจในเรื่องที่เลือกเป็นหัวข้อวิจัยนั้นๆ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้วิจัยประเมินว่าต้องทำงานวิจัยอย่างไรและในทิศทางใด จึงจะนำไปสู่คำตอบของคำถามนั้นๆ  ทั้งนี้ผู้วิจัยอาจเริ่มตั้งคำถามด้วยวลีคำถาม เช่น  อะไร  อย่างไร  ที่ไหน  เมื่อไร  กับใคร ตัวอย่างเช่น
            -หัวข้อวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของอะไร และประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง
            -ความเป็นมาของเรื่องนี้เป็นอย่างไร
            -เรื่องนี้สามารถจัดหมวดหมู่ให้อยู่ในประเภทใด
            -เรื่องนี้มีอะไรดี สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง
        เมื่อรวบรวมคำถามที่ตั้งขึ้นมาแล้ว ควรจัดกลุ่มของคำถาม และมุ่งความสนใจไปยังคำถามที่ขึ้นต้นด้วยทำไม หรืออย่างไร และพิจารณาว่าคำถามไหนที่ผู้วิจัยสนใจและอยากรู้คำตอบที่สุด คำถามนั้นจะเป็นคำถามสำหรับงานวิจัยของผู้วิจัย

         องอาจ นัยพัฒน์ (2551, หน้า 43-44) ให้แนวทางไว้ว่า การเขียนปัญหาการวิจัย ในรูปคำถามสามารถเขียนได้ 3 ลักษณะ คือ
       1. ประเด็นคำถามเชิงพรรณนา ได้แก่ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัยในรูปคำถามที่ว่า
“ อะไรคือ อะไรเป็น” (What is) การตอบประเด็นคำถามดังกล่าวนี้ แสดงเป็นนัยว่า นักวิจัยจะต้องอาศัยการวิจัยเชิงสำรวจ  เช่น
    -อะไรคือพฤติกรรมแปลกแยกของนิสิต/นักศึกษาที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ?
    -อะไรคือพฤติกรรมการบริหารของผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ดีเด่นและไม่ดีเด่น? 
     2. ประเด็นคำถามเชิงความสัมพันธ์ ได้แก่ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัย ในรูปของคำถามที่มุ่งหาคำตอบว่า
     “ ตัวแปร X  มีความสัมพันธ์กับตัวแปร Y หรือไม่”  หรือ
     “ ตัวแปร X  พยากรณ์ตัวแปร Y ได้หรือไม่”
การสืบหาคำตอบของคำถามทั้ง 2 ประเด็นนี้ แสดงเป็นนัยว่านักวิจัยต้องออกแบบการวิจัยเป็นประเภทการศึกษาสหสัมพันธ์(correlation  design)  เช่น
      -อัตมโนทัศน์ของนักเรียนมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่?
      -เพศ ผลการเรียนเดิมเกรดเฉลี่ย(GPA)ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความเอาใจใส่ต่อการศึกษาเล่าเรียน ทำนายความสำเร็จในการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้อย่างแม่นตรงหรือไม่?
     3. ประเด็นคำถามเชิงเปรียบเทียบ  ได้แก่ การกำหนดหัวข้อปัญหาวิจัย ในรูปของคำถามที่มุ่งเน้นการเปรียบเทียบพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่สนใจระหว่างกลุ่มควบคุมที่ที่ดำเนินตามสภาวะปกติและกลุ่มทดลองที่จัดกระทำทางการทดลองขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ รูปแบบของคำถามประเภทนี้มุ่งหาคำตอบว่า “มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มตัวอย่างหรือวิธีการที่นักวิจัยดำเนินการขึ้นหรือไม่”
คำถามวิจัยประเภทนี้ต้องอาศัยแบบการวิจัยเชิงทดลอง(experimental design) หรือการศึกษาย้อนรอยเปรียบเทียบหาสาเหตุ(causal comparative design) มาใช้ในการสืบค้นหาคำตอบ เช่น
    -ผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ดีเด่นและไม่ดีเด่น มีพฤติกรรมการบริหารงานด้านภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง(transformational leadership) การจัดการ การตัดสินใจ และการติดต่อสื่อสารแตกต่างกันหรือไม่?
          สรุป
          การตั้้งคำถามเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะคำถามวิจัยที่ผู้วิจัยตั้งขึ้นบ่งบอกให้ทราบถึงประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการทราบหรือทำความเข้าใจในเรื่องที่เลือกเป็นหัวข้อวิจัยนั้นๆ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้วิจัยประเมินว่าต้องทำงานวิจัยอย่างไรและในทิศทางใด จึงจะนำไปสู่คำตอบของคำถามนั้นๆ  ทั้งนี้ผู้วิจัยอาจเริ่มตั้งคำถามด้วยวลีคำถาม เช่น  อะไร  อย่างไร  ที่ไหน  เมื่อไร  กับใคร

เอกสารอ้างอิง
สุวิมล  ว่องวานิช.(2550).แนวทางการให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์.(พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
องอาจ นัยพัฒน์.(2551).วิธีวิทยาการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์.(พิมพ์ครั้งที่ 3).กรุงเทพมหานคร : สามลดา.
อาทิวรรณ  โชติพฤกษ์.(2553).ก้าวสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น